วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เริ่มต้น e-Commerce

เริ่มต้น e-Commerce ต้องทำอย่างไรบ้าง?







ก่อนจะเริ่มต้นทำเว็บไซต์ สิ่งหนึ่งที่คุณจำเป็นอย่างมากๆ ที่จะทำคือการ ศึกษาและวิเคราะห์ในเว็บไซต์ที่คุณจะทำว่า "มีความเป็นไปได้หรือเปล่าในการที่จะเริ่มต้นทำเว็บไซต์ขึ้นมา" การวิเคราะห์และศึกษาคู่แข่ง (Competitor Analysis) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่คุณจำเป็นที่จะต้องศึกษาก่อน เพื่อที่จะทำให้คุณเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังจะทำมากขึ้น, การกำหนดขอบเขต (Scope) ของการทำงานที่ชัดเจน ว่าคุณจะทำอะไรถึงตรงไหน, กลุ่มเป้าหมาย (Target Market) ของคุณจะเป็นใคร รวมถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของคุณ (SWOT Analysis) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็น ที่คุณจะต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มต้นทำเว็บไซต์ เพราะหลายๆ คนมักจะเริ่มต้น และไม่ได้ศึกษาและวิเคราะห์ก่อน ทำให้การเริ่มต้นในการทำเว็บไซต์ของคุณ "ขาด" มุมมองที่ครบทุกๆ ด้าน ซึ่งอาจจะให้เว็บไซต์ที่คุณทำล้มเหลวก็ได้

การทำตลาดและการวางกลยุทธ์ (Marketing & Strategy)

การวางการกลยุทธ์ทางการตลาด ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่ง ที่จะต้องมีการวางแนวทางไว้อย่างชัดเจน ว่ารูปแบบเว็บไซต์ของคุณจะมีแนวทางในการทำการตลาดอย่างไร ให้คนทั่วไปหรือกลุ่มเป้าหมายของคุณรู้จัก? จะเลือกวิธีไหนที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณเข้าถึงลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายของคุณ จะใช้การตลาดผ่าน Search Engine Marketing, การตลาดผ่าน E-Mail Marketing, เลือกลงโฆษณาตามเว็บไซต์กลุ่มเป้าหมาย หรือใช้วิธีอื่นๆ ซึ่งคุณจำเป็นจะต้องวางแผนและกำหนดให้ชัดเจนก่อน และสิ่งที่สำคัญมากๆ อีกสิ่งหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้เว็บไซต์ที่คุณจะทำขึ้นมา มีความแตกต่างและโดดเด่น (Differentiate) จากคู่แข่ง และจะทำอย่างไรให้เว็บไซต์ของคุณเป็นที่จดจำ หลังจากที่มีคนเข้ามาใช้บริการแล้ว นี้เป็นเพียงแค่บางส่วนที่คุณ จำเป็นต้องคิดและหาแนวทางที่ชัดเจนรองรับกับเว็บไซต์ของคุณ



"หลายๆ คนมัก "คิดเอาเองว่า" เว็บไซต์ที่คุณจะทำ "น่าจะ" หรือ "มีแนวโน้ม" ในการสร้างรายได้ให้คุณได้อย่างมากมาย"

การประมาณการรายได้และรายจ่าย (Revenue & Expense Forecast)

หลายๆ คนมัก "คิดเอาเองว่า" เว็บไซต์ที่คุณจะทำ "น่าจะ" หรือ "มีแนวโน้ม" ในการสร้างรายได้ให้คุณได้อย่างมากมาย แต่หลายๆ คนมักจะคิดหรือคาดการณ์ผิด ดังนั้นการวางแผน กำหนดรูปแบบของ รายได้และรายจ่าย ที่จะเกิดขึ้นไว้อย่างชัดเจน และลองประมาณการ (Forecast) ว่าจะในระยะเวลา 1 ปี เว็บไซต์ที่คุณจะทำจะเกิดรายได้ และรายจ่ายมากน้อยแค่ไหน จากสิ่งที่คุณคิดว่าจะทำ เช่น ตัวอย่างของรูปแบบของรายได้ อาจจะมาจากการขายสินค้าผ่านเว็บ, รายได้จากการโฆษณา (ผมยังไม่ค่อยอยากให้คุณคิดว่า จะสามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาได้ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดเว็บไซต์ เพราะต้องอาศัยเวลาและจำนวนคนเข้ามาที่เว็บไซต์มาพอระดับหนึ่ง เว็บไซต์ของคุณถึงจะเริ่มต้นสร้างรายได้จากการโฆษณาได้) รูปแบบของรายจ่าย เช่น ค่าพัฒนาเว็บไซต์, ค่าโดเมนเนม-โฮสติ้ง, ค่าโฆษณาประชาสัมพันต์, ค่าคนและบุคลากร เป็นต้น นำรายได้และรายจ่ายมาคำนวนหักลบกันในตลอด 1 ปีหรือ 3 ปีไปข้างหน้า คุณก็จะเริ่มมองเห็น ความเป็นไปได้ของเว็บไซต์นี้จะสามารถอยู่รอด สามารถสร้างรายได้ให้กับคุณมากน้อยแค่ไหน ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่หลายๆ คนมักละเลยไม่ได้ทำหรือวางแผนกันไว้ก่อน ซึ่งส่งผลทำให้เว็บไซต์ๆ หลาย ๆ เว็บต้องปิดตัวลงไป เพราะขาดการวางแผนไว้อย่างชัดเจน

การสร้างสัมพันธ์ การสร้างพันธมิตร

คุณคงไม่สามารถทำเองทุกอย่างได้ทั้งหมด ดังนั้นการหาพันธมิตร และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ ธุรกิจหรือคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ของคุณไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม จะช่วยทำให้สิ่งที่คุณจะทำ สามารถก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง มากขึ้น เช่นการสร้างพันธมิตรทางด้านสื่อ, ด้านช่องทางการขาย, การร่วมมือกันพัฒนา เป็นต้น นี้คือรูปแบบบางส่วนของความร่วมมือกันที่สามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของการร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ แต่ยังมีอีกหลายๆ คนมักคิดว่าจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ยอมพึ่งใคร ซึ่งมันอาจจะทำให้คุณต้องใช้เวลา และใช้ทรัพยากรมากมาย ในการที่จะบรรลุสิ่งเหล่านี้ และนี้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยทำให้เว็บไซต์ที่คุณทำสามารถ เริ่มต้น และโตไปได้ช้า ถ้าหากคุณจะทำเองทั้งหมด

"ยังมีอีกหลายๆ คนมักคิดว่าจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ยอมพึ่งใคร ซึ่งมันอาจจะทำให้คุณต้องใช้เวลา และใช้ทรัพยากรมากมาย"

ทั้งหมดนี้ที่ผมยกหัวข้อมาหลาย ๆ หัวข้อ ฟังๆ ดูมันอาจจะดูค่อนข้างซีเรียสไปนิดนึง แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ที่คุณอาจจะต้องคำนึงถึง และมีการวางแผนไว้อย่างชัดเจน ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นทำเว็บไซต์ซักเว็บหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คุณยังสามารถนำไปประยุกต์กับการเริ่มต้นทำธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน ผมว่าคนเรามักจะสนุกที่จะได้คิดและฝันครับ และมันจะสนุกมากๆ ครับ หากความคิดหรือความฝันของคุณเป็นจริงได้ ซึ่งมันจะเป็นจริงได้ คุณก็ต้องพยายามๆ เปิดมุมมองและวางแผนในทุกด้านๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้ความคิดและความฝันของคุณเป็นจริง

10 เหตุผลของการนำธุรกิจมาเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต
1. เพื่อให้ธุรกิจของตนเองพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าทางอินเทอร์เน็ต

เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีผู้ใช้จำนวนเป็นร้อยล้านคนจากทั่วโลก และมีอัตราการเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวทุกปี ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ทุกคนไม่ควร มองข้ามตลาด และช่องทางการตลาดขนาดใหญ่ เช่นนี้ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่อง สถานประกอบการ เวลาทำการของธุรกิจ ด้วยต้นทุนที่ประหยัด ดังนั้นบริษัทต่างๆ ที่รู้จักคุณประโยชน์ข้อนี้ จึงอดใจไม่ได้ ที่จะต้องพัฒนาธุรกิจ ของตนเอง โดยอาศัยคุณสมบัติของอินเทอร์เน็ตในการเตรียมความพร้อม ให้บริการทาง อินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้า ที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก่อนที่คู่แข่งของตนเองจะจับจองผูกใจลูกค้าไว้หมดแล้ว

2. เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างเครือข่ายของธุรกิจ

ในการดำเนินธุรกิจการค้า การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ขายวัตถุดิบ หรือ ผู้ให้บริการ ด้านต่างๆ แก่บริษัท เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก วิธีการสำคัญวิธีหนึ่งที่ นักธุรกิจใช้ในการ สร้างความสัมพันธ์และ เครือข่ายทางธุรกิจ ของตนเอง เมื่อได้มีโอกาสพบผู้ที่เกี่ยวข้องคือ การให้นามบัตร (Business Card) ซึ่งนามบัตรแบบทั่วไป จะให้ข้อมูลว่าตนเอง เป็นใคร อยู่ที่ไหน ขายสินค้า/ให้บริการอะไร แต่ในนามบัตรของนักธุรกิจที่มี Web Site ของตนเองนั้นจะบอกที่อยู่ บนอินเทอร์เน็ตของบริษัท คือ www.company-name.com ทำให้ผู้ที่มีความสนใจในบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าในต่างประเทศ สามารถดูข้อมูลของบริษัท สินค้า หรือบริการได้อย่างสะดวก และสามารถติดต่อสื่อสารกับบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสขยายเครือข่ายของธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย

3. เพื่อให้ข้อมูลของบริษัทพร้อมให้ลูกค้าเข้ามาค้นหาได้

การเผยแพร่ข้อมูลธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหาบริษัทได้และทำธุรกิจกับตนเอง ทั่วไปๆ มักจะลงโฆษณา ในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง หรือ Directory ต่างๆ ซึ่งให้ข้อมูลของบริษัท อาทิ ซื่อ ที่อยู่ เวลาดำเนินการ สินค้า หรือบริการ ในพื้นที่โฆษณาที่จำกัด และ ข้อมูลอาจไม่ทันสมัย ตามสถานการณ์ของบริษัท แต่ในระบบอินเทอร์เน็ต ธุรกิจสามารถ ให้ลูกค้าเข้ามาค้นหา ข้อมูลของบริษัท ได้อย่างง่ายดาย และสามารถลงโฆษณาอะไรก็ได้มากเท่าที่ต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลา อาทิ การเสนอส่วนลดพิเศษ สำหรับลูกค้าวันนี้ หรือสัปดาห์นี้ การจัดรายการพิเศษเพื่อส่งเสริมการขาย เช่น การตอบปัญหา หรือ การร่วมเล่นเกมต่างๆ ที่จูงใจลูกค้า ซึ่งหากบริษัทมีโอกาสให้ข้อมูลเหล่านี้แก่ลูกค้า จะมีส่วนช่วยให้ลูกค้า ตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการของ บริษัทได้มากขึ้นอีกด้วย

4. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้า

ด้วยคุณสมบัติของระบบคอมพิวเตอร์ (Hardware & Software) และคุณสมบัติของเครือข่ายใยแมงมุม (www) ธุรกิจสามารถ ให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบที่ให้ลูกค้า สามารถค้นหาสินค้า และข้อมูลของสินค้า ที่ต้องการจาก ฐานข้อมูลสินค้าของธุรกิจ รวมทั้งวิธีการสั่งซื้อสินค้าและเงื่อนไขต่างๆ ด้วยตนเองตลอดเวลา ทำให้ลูกค้ามีข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ ซื้อสินค้าธุรกิจนั้นๆ มีสินค้า หรือ บริการที่ตรงตามความต้องการหรือไม่ ราคาเท่าไร มีจำนวนเท่าไร จะจัดส่งให้โดยวิธีอะไร มีค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเท่าไร จะได้รับสินค้าเมื่อไร จะชำระเงินโดยวิธีใด จะให้จัดส่งสินค้าไปที่ไหน สินค้ามีคุณสมบัติอย่างไร วิธีการใช้สินค้า ข้อควรระวังเกี่ยวกับสินค้า เงื่อนไขและส่วนลดพิเศษ ฯลฯ นอกจากนั้นแล้ว ลูกค้ายังสามารถ ตรวจสอบได้อีกว่า สินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้แล้ว ได้รับการจัดส่งเมื่อไหร่

5. ขยายผลและขอบเขตการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น

เนื่องจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่ทำให้โลกของการติดต่อสื่อสารข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างไร้พรมแดน ทำให้ข้อมูล การโฆษณา และ ประชาสัมพันธ์ของบริษัท สามารถกระจายไปยัง ใครก็ตาม (anybody) อยู่เมืองใด ประเทศใดก็ตาม (anywhere) ที่สามารถเข้าสู่ ระบบอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยของบริษัทดังกล่าวได้ ในขณะที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อๆ อาทิ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ จะจำกัดอยู่ในวงของผู้ที่เป็นสมาชิก หรือเครือข่ายการรับส่งของวิทยุ (จังหวัด) หรือโทรทัศน์(ประเทศ) และ ยังถูกจำกัดด้วย ขนาดของคอลัมน์ เวลาออกอากาศ (30 วินาที หรือ 1 นาที) ที่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อต่างๆ ควบคู่ กับการใช้ อินเทอร์เน็ต จะทำให้ธุรกิจ สามารถเข้าสู่ตลาดและเจาะตลาดได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะลูกค้าสามารถอาจได้ยินเรื่องราวจากสื่อต่างๆ และ สามารถดู ข้อมูลรายละเอียด เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าในต่างประเทศที่เห็นข้อความโฆษณาในนิตยสาร สามารถ เข้ามาค้นหาข้อมูล อย่างละเอียดจากเว็บไซต์บริษัท

6. ขจัดปัญหาด้านเวลาดำเนินการของธุรกิจ

เนื่องจากเวลาดำเนินการของสำนักงานของบริษัททั่วไป คือ 8.00 - 17.00 น. แต่ในความเป็นจริง ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของลูกค้า ที่บางครั้งต้องการติดต่อ และ ขอบริการจากบริษัทนอกเวลาเปิดทำการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ทำธุรกิจการค้า ระหว่างประเทศ ที่มีปัญหา เรื่องของเวลาทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งระบบอินเทอร์เน็ตสามารถขจัดปัญหาดังกล่าวได้ โดยสามารถ ตอบสนองความต้องการ ของลูกค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อาทิ การตอบปัญหาเกี่ยวกับการใช้สินค้า การรับเรื่องร้องเรียนของลูกค้า (Electronic Mail) การส่งเอกสารการซื้อ-ขายสินค้าฯลฯ นอกจากนี้ หากเชื่อมต่อระบบ E-mail กับระบบสื่อสารภายในประเทศ (Pager หรือ โทรศัพท์เคลื่อนที่) ที่ให้บริการในปัจจุบัน ให้ส่งผ่านข้อมูลจากระบบ E-mail มายัง Pager หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว จะทำให้ธุรกิจ ไม่พลาดการติดต่อสื่อสาร กับลูกค้าหรือผู้ร่วมธุรกิจเลย โดยมี Web Site ของบริษัทเป็น ศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารทั้งภายใน และภายนอกบริษัท

7. การขายสินค้าหรือบริการ

อินเทอร์เน็ต นอกจากจะเป็นสื่อในการติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทกับลูกค้าแล้ว ยังเป็นช่องทางการตลาด และ เป็นวิธีการในการ ขายสินค้าแก่ลูกค้าที่ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้คำแนะนำและข้อมูลสินค้าแก่ลูกค้า การตกลงเงื่อนไขทางการค้า การต่อรองราคาสินค้า การเลือกวิธีการขนส่ง จนกระทั่งการชำระเงินค่าสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยบัตรเครดิต หรือระบบ Telebanking ผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่าการขายสินค้าสามารถจะกระทำได้โดยวิธีอื่นๆ อาทิ การขายหน้าร้าน การขายผ่านไปรษณีย์ การขายทางโทรศัพท์ การขายแบบ Direct Sales ก็ตาม วิธีการขายผ่านทาง Internet เป็นวิธีการขายที่มีค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่น้อยที่สุด และ มีโอกาสในการ ขยายตลาดได้มากที่สุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในการสื่อสาร ข้อมูลการค้าซึ่งกันและกัน

8. การนำเสนอข้อมูลของธุรกิจแบบ Multi-media

เนื่องจากบนอินเทอร์เน็ตนั้น บริษัทที่มีเว็บไซต์ของตนเองสามารถที่จะนำตัวหนังสือ ภาพนิ่ง เสียง และภาพเคลื่อนไหวประกอบเสียง มานำเสนอเรื่องราวของบริษัท สินค้า หรือบริการของบริษัท มาเตรียมพร้อมไว้ให้ลูกค้าที่เข้ามาในเว็บไซต์ของบริษัทได้ ด้วยคุณสมบัติ ข้อนี้เอง ทำให้บริษัทมากมาย สามารถนำข้อมูลที่ถูกจัดเก็บ ในรูปแบบต่างๆ มานำเสนอแก่ลูกค้า เพื่อเป็นข้อมูล ประกอบ การตัดสินใจ ในการเลือกสินค้า หรือ ใช้บริการได้อย่าง มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการ อาทิ VDO แนะนำคุณสมบัติของสินค้า ข้อมูล Multi-media แบบ Interactive ที่ช่วยลูกค้าเลือกซื้อสินค้าอย่างเสื้อผ้า เพลง หนังสือ ของประดับตกแต่งบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับลูกค้าในต่างประเทศ ที่ได้มีโอกาส รับรู้ และเข้าใจใน ตัวสินค้า หรือบริการของบริษัท

9. การเข้าสู่ตลาดที่ลูกค้ามีความต้องการบริโภคสินค้าสูง (Highly Desirable Demographic Market)

เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาสูง หรืออยู่ในช่วงกำลังศึกษา หรือ อยู่ในวัยเพิ่งสำเร็จการศึกษา และกำลังเริ่มต้น ทำงานสร้างตนเอง ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่มีเงินเดือน/รายได้อยู่ในเกณฑ์ระดับสูงของสังคม และมีอำนาจในการซื้อ/บริโภคสินค้าสูง และในอนาคตเพียงไม่กี่ปีนี้ กลุ่มคนดังกล่าวจะเป็นผู้บริโภคที่มีความสำคัญมากบนอินเทอร์เน็ต และ มีพฤติกรรมการบริโภค ที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ หรือช่องทางอย่างหนึ่งในการบริโภคสินค้า ตั้งแต่การค้นหาข้อมูลของสินค้า/บริการ การเปรียบเทียบ คุณสมบัติ และราคาสินค้า/บริการของแต่ละบริษัท การซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต และต้องการบริการหลังการขายทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ ไม่ควรมองข้ามผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว หากแต่ควรเตรียมความพร้อม ของธุรกิจให้สามารถ ตอบสนองความต้องการ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ผ่านทาง อินเทอร์เน็ต เพื่อรักษาสมรรถภาพในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคตต่อไป

10. การตอบคำถามของลูกค้าที่เกิดขึ้นบ่อยๆ (Frequently Asked Questions)

ลูกค้าหรือผู้ทำธุรกิจร่วมกันของบริษัทต่างๆ มักจะมีคำถามเกี่ยวกับบริษัทหรือสินค้า ที่เหมือนๆ กัน อาทิ บริษัทก่อตั้งเมื่อไร ใครเป็นผู้บริหาร/เจ้าของ มีวัตถุประสงค์ของบริษัทอย่างไร สินค้ามีคุณสมบัติอย่างไร มีวิธีใช้สินค้าอย่างไร เมื่อสินค้าเสียหายจะติดต่อใคร จะซ่อมแซมสินค้าได้ที่ไหน สินค้ามีอายุการใช้งานนานเท่าไร จะซื้อสินค้าได้ที่ไหนบ้าง ฯลฯ ซึ่งพนักงานที่มีหน้าที่ตอบคำถามเหล่านี้ จะต้องใช้เวลามากกับ การตอบคำถามประเภทเดียวกัน และบางครั้งทำให้ไม่ สามารถทำงานอื่นที่ได้รับมอบหมาย ให้ลุล่วงไปได้ ดังนั้น บนอินเทอร์เน็ต บริษัทสามารถสร้าง ระบบสำหรับการตอบคำถามที่เกิดขึ้นบ่อย คอยให้บริการลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดเวลาในการ ตอบคำถามดังกล่าว ของพนักงาน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมาตอบคำถามด้วย นอกจากนี้ ระบบตอบคำถามบน อินเทอร์เน็ตยัง สามารถให้บริการ ได้ตลอดเวลาอีกด้วย และไม่มีการเบื่อหน่ายในการตอบคำถามดังกล่าวเลย หากแต่จะช่วย รวบรวมคำถามดังกล่าว หรือ คำถามใหม่ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการของบริษัท




เอกสารอ้างอิง

http://www.pawoot.com/node/129

http://www.pawoot.com/startup

http://www.pawoot.com/node/88

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น